ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการถาวรบิมสเทค ครั้งที่ ๗

เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ นางสาวรุจิกร แสงจันทร์ รองอธิบดีฯ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการถาวรบิมสเทค ครั้งที่ ๗ (7th Meeting of BIMSTEC Permanent Working Committee) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ ๔ กันยายน ศกนี้

การประชุมฯ ครั้งนี้ได้หารือเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประชุมผู้นำและการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๔ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญาผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ (๒) เอกสารแนวคิดว่าด้วยการประชุมของรัฐมนตรีกลาโหมบิมสเทค (๓) เอกสารแนวคิดว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงินและการคลังบิมสเทค และ (๔) กฎระเบียบสำหรับศูนย์สภาพอากาศและภูมิอากาศของบิมสเทค ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากการประชุมจะช่วยยกระดับกลไกความร่วมมือของบิมสเทคผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก เพื่อให้ภูมิภาคอ่าวเบงกอลสามารถบรรลุผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมได้

อนึ่ง นับตั้งแต่การรับตำแหน่งประธานบิมสเทคของไทยในปี ๒๕๖๕ ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการฯ ทั้งหมด ๔ ครั้ง โดยที่ประชุมฯ ครั้งนี้ จะเสนอเอกสารผลลัพธ์ข้างต้นต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสบิมสเทค ครั้งที่ ๒๔ ที่ประชุมรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ ๒๐ และที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๒ ที่กรุงนิวเดลี

เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๒ ที่กรุงนิวเดลี อินเดีย โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ ภูฏาน และเมียนมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเนปาล และเลขาธิการบิมสเทค เข้าร่วม โดยที่ประชุมฯ ได้หารือแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล และการบริการจัดการภัยพิบัติ

รัฐมนตรีฯ ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นมั่นคงรูปแบบใหม่ในกรอบบิมสเทค ได้แก่ (๑) ความมั่นคงทางอาหาร โดยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนจากทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ของอ่าวเบงกอล โดยเฉพาะทรัพยากรประมง (๒) ความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการศึกษาอย่างรอบ และ (๓) ความมั่นคงทางพลังงาน โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน โดยรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำความตั้งใจของไทยที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านดังกล่าวเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกรอบบิมสเทค

รัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำบทบาทสำคัญของไทยในฐานะจุดเชื่อมระหว่างบิมสเทคและอาเซียน เชื่อมโยงตลาดภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรรวมกันกว่า ๔ พันล้านคน นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้แสดงความพร้อมของไทยในฐานะประธานบิมสเทคในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ ที่กรุงเทพ ในวันที่ ๔ กันยายนปีนี้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคเอกชนในฐานะผู้เล่นสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของบิมสเทค ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยไทยจะเสนอเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม BIMSTEC Young Entrepreneur Forum ในช่วงการประชุมผู้นำบิมสเทคฯ เพื่อเป็นเวทีสำหรับเยาวชนในการแลกเปลี่ยนแนวคิดทางธุรกิจแบบใหม่

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้ร่วมเข้าเยี่ยมคารวะนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย และยืนยันความพร้อมของไทยในการต้อนรับนายกรัฐมนตรีอินเดียเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำบิมสเทคที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ฝากความระลึกถึงนายกรัฐมนตรีของไทย

การประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ครั้งที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗

เมื่อวันที่ ๑๖ – ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากฝ่ายไทย เป็นประธานการประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ครั้งที่ ๕ ณ สำนักเลขาธิการบิมสเทค กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เพื่อจัดทำรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ซึ่งต่อยอดจากผลของการประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๗

การประชุมฯ ครั้งนี้ ได้หารือร่างรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ซึ่งจะเป็นเอกสารสำคัญที่ช่วยกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต พร้อมทั้งนำเสนอแผนการดำเนินงานอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อให้บิมสเทคสามารถก้าวข้ามความท้าทายในปัจจุบัน และสามารถบรรลุความร่วมมือเพื่อการรวมตัวในภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความมั่นคงภายในภูมิภาคอ่าวเบงกอลได้

คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ กำหนดจะมีการประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ เพื่อสรุปรายงาน และนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีของบิมสเทคพิจารณา ก่อนนำเสนอผู้นำฯ ในการประชุมผู้นำที่จะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๗

การประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ครั้งที่ ๔

เมื่อวันที่ ๒๕-๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากไทย เป็นประธานในการประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ครั้งที่ ๔ ณ สำนักเลขาธิการบิมสเทค กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เพื่อหารือข้อเสนอแนะการดำเนินงานของบิมสเทคในอนาคต ซึ่งต่อยอดจากการประชุมฯ ครั้งที่ ๓ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗

การประชุมฯ ครั้งนี้ ได้หารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ของบิมสเทค โดยเฉพาะ สาขาการค้า การลงทุน และการพัฒนา และสาขาความมั่นคง รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมความแข็งแกร่งเชิงสถาบันของบิมสเทค โดยพิจารณาแผนการดำเนินงานของบิมสเทคให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ  ๒๐๓๐ (Bangkok Vision 2030)

ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ยังได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของบิมสเทค (BIMSTEC Stakeholders) จากภาคส่วน   ต่าง ๆ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ได้แก่ ๑) อดีตเลขาธิการบิมสเทค ๒) เครือข่ายคลังสมองด้านนโยบายของบิมสเทค (BIMSTEC Network of Policy Think Tanks) และ ๓) สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของรัฐสมาชิกบิมสเทค เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ เช่น บทบาทหน้าที่ของสำนักเลขาธิการบิมสเทค การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในบิมสเทค อนาคตการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีบิมสเทค (BIMSTEC FTA) และบทบาทของภาคเอกชนในบิมสเทค

คณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต เป็นผลมาจากข้อริเริ่มของที่ประชุมผู้นำบิมสเทค เมื่อปี ๒๕๕๙ ที่เมืองกัว ประเทศอินเดีย เพื่อเสริมสร้างให้บิมสเทคเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและเน้นผลสัมฤทธิ์ โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ มีหน้าที่พิจารณาการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้กรอบบิมสเทคและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของบิมสเทคในอนาคตที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ๒๐๓๐ โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวจะถูกเสนอต่อผู้นำบิมสเทคในการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนกันยายน ๒๕๖๗

การประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ครั้งที่ ๒

เมื่อวันที่ ๑๑ – ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากไทย เป็นประธานการประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ครั้งที่ ๒ ณ สำนักเลขาธิการบิมสเทค กรุงธากา บังกลาเทศ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากรัฐสมาชิกบิมสเทคเข้าร่วมเพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานของบิมสเทคในอนาคต โดยต่อยอดจากการประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗

การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการหารือแนวทางเสริมสร้างการทำงานขององค์กรและส่งเสริมความร่วมมือทั้ง ๗ สาขาของบิมสเทค โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกลไกลการดำเนินการหลักและกลไกการดำเนินงานรายสาขาของบิมสเทค รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีภายนอก นอกจากนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานของสาขาความร่วมมือต่าง ๆ เช่น สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และสาขาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือในอนาคต

ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นด้านการดำเนินการของศูนย์บิมสเทคร่วมกับผู้แทนจากศูนย์สภาพอากาศและภูมิอากาศของบิมสเทค (BIMSTEC Centre on Weather and Climate) ศูนย์พลังงานบิมสเทค (BIMSTEC Energy Centre) รวมทั้ง แนวทางการพัฒนาการดำเนินการของศูนย์ดังกล่าวให้มีความยั่งยืนในอนาคต

คณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต เป็นผลมาจากข้อริเริ่มของที่ประชุมผู้นำบิมสเทค เมื่อปี ๒๕๕๙ ที่เมืองกัว ประเทศอินเดีย เพื่อเสริมสร้างให้บิมสเทคเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและเน้นผลสัมฤทธิ์ โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ มีหน้าที่พิจารณาการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้กรอบบิมสเทคและ ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของบิมสเทคในอนาคตที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ๒๐๓๐

บิมสเทคประกอบด้วยรัฐสมาชิก ๗ ประเทศที่เชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์สำนักเลขาธิการบิมสเทค (www.bimstec.org)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้อนรับเลขาธิการบิมสเทคเนื่องในโอกาสเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัว

เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับนายอินทระ มณิ ปาณเฑย์ (H.E. Mr. Indra Mani Pandey) เลขาธิการบิมสเทค ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัวช่วงเยือนไทยระหว่างวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ – ๑ มีนาคม ๒๕๖๗  

ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการพัฒนาบิมสเทคให้มีความสอดคล้องกับบริบทโลกในปัจจุบันมากขึ้นและเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเห็นว่าควรเร่งรัดการดำเนินการต่าง ๆ ของบิมสเทค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FTA บิมสเทค การสำรวจแนวทางความร่วมมือใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว  

ในโอกาสนี้ รองนายกฯ ได้ยืนยันความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกับสำนักเลขาธิการบิมสเทค รวมทั้งเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ ในปี ๒๕๖๗ เพื่อสรุปผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา

เลขาธิการบิมสเทคเข้าเยี่ยมคารวะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศในโอกาสพ้นจากตำแหน่ง

เลขาธิการบิมสเทคเข้าเยี่ยมคารวะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศในโอกาสพ้นจากตำแหน่ง
เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายเท็นซิน เล็กเพลล์ เลขาธิการบิมสเทค ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เพื่ออำลาในโอกาสพ้นจากตำแหน่ง พร้อมหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนวาระการเป็นประธานบิมสเทคของไทย และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการส่งเสริมความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในสาขาที่บิมสเทคมีศักยภาพ

ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ชื่นชมเลขาธิการบิมสเทคที่ได้ขับเคลื่อนความร่วมมือบิมสเทคให้มีความคืบหน้าและได้สร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านการเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร พร้อมขอบคุณสำหรับการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ประธานบิมสเทคของไทย และได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ และการประชุมที่เกี่ยวข้องในปี ๒๕๖๗

โครงการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และ BCG Economy สำหรับกลุ่มประเทศบิมสเทค

เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๖ นายรชา อารีพรรค ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ   กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีปิด “โครงการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และ BCG Economy สำหรับกลุ่มประเทศ  บิมสเทค” ณ ถนนคนเดินเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

 

โครงการอบรมดังกล่าวเป็นความร่วมมือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ระหว่างประเทศสมาชิกบิมสเทคเกี่ยวกับบทบาทของไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วงการเป็นประธานบิมสเทคของไทย ปี 2565 -2566 ระหว่างวันที่ 5 – 10 ก.ย. 2566 ณ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมจากประเทศสมาชิกบิมสเทคและสำนักเลขาธิการบิมสเทคกว่า 50 คน

 

การนี้ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เปิดตัวสื่อการเรียนรู้ BIMSTEC E-Learning และ E-Books เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบิมสเทค และบทบาทของไทยในฐานะประธานบิมสเทค โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป 

กระทรวงการต่างประเทศโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศมุ่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบิมสเทคให้แก่สาธารณชน โดยเฉพาะเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นรากฐานไปสู่การส่งเสริมโอกาสและผลประโยชน์ของประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นประธานบิมสเทคของไทย

 

ลิงค์ BIMSTEC E-learning: https://polsci.ubu.ac.th/polmooc-detail/7        

พบกับประเด็น: ความท้าทายภาคธุรกิจสู่การคว้าโอกาสใน BIMSTEC

พูดคุยกับเเขกรับเชิญ
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์
อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ติดตามได้ที่

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเรื่อง วิกฤติเศรษฐกิจโลก – เมียนมา ท้าทาย ‘ไทย’ เจ้าภาพบิมสเทค ผ่านช่องทาง สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ

ปีนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) ระหว่างปี 2565 – 2566 ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นผลพวงจากสงครามยูเครน และเป็นความพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 

สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายต่อการทำหน้าที่ประธานบิมสเทคของไทย ที่มีความมุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับอนุภูมิภาค ขับเคลื่อนขีดความสามารถ ฉายภาพบทบาทของไทยมากขึ้นในสายตาโลก  

“เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ  กล่าวว่า ไทยไม่ได้รับทำหน้าที่ประธานบิมสเทคเพียงอย่างเดียว แต่ยังรับความท้าทายรอบด้าน เพราะมีความตั้งใจให้บิมสเทคเป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีความทันสมัย และตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบัน 

ประชุมผู้นำบิมสเทคเดือนพ.ย.

กระทรวงการต่างประเทศกำหนดไว้จะจัดประชุมผู้นำบิมสเทคในวันที่ 30 พ.ย.นี้ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องได้รับการยืนยันจากประเทศสมาชิกบิมสเทคและแสดงฉันทามติจนครบทุกประเทศ 

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเชิญประเทศพันธมิตรนอกภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจบิมสเทคให้มาร่วมประชุมผู้นำบิมสเทคในปลายปีนี้ด้วย ขึ้นอยู่กับไทยในฐานะประธานจะพิจารณาตามความเหมาะสม 

 

ชี้จุดอ่อนบิมสเทค

ถึงอย่างไร หากการเมืองไทยยังไม่ชัดเจน และไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ อาจทำให้กระทรวงการต่างประเทศมองทางเลือกอื่น เช่นเลื่อนการประชุมออกไปเป็นต้นปีหน้า แต่เชื่อว่า ภายในเดือน ส.ค.จะมีความชัดเจนขึ้น

ส่วนจุดอ่อนความร่วมมือบิมสเทค เชิดชาย มองว่า บิมสเทคเผชิญสถานการณ์ในภูมิภาค 3 เรื่องใหญ่ ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการได้พูดคุยกันแบบตรงไปตรงมา ได้แก่ สถานการณ์การเมืองเมียนมา วิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกา การแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์และผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบมายังกลุ่มบิมสเทค ล้วนเป็นความท้าทายไทยในฐานะประธาน และรุมเร้าสมาชิกมาตลอด 2 ปี 

 

ปฏิบัติจริง ไม่ใช่พิธีกรรม

“ดังนั้นไทยจะผลักดันแนวคิดที่จะปูพื้นฐานบิมสเทคให้แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้น ตามที่ได้ร่างในเอกสารวิสัยทัศน์บิมสเทคกรุงเทพฯ (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) และเพื่อให้ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่พิธีกรรมของการพบปะกัน จึงให้จัดตั้งเจ้าหน้าที่คณะทำงานในหัวข้อความร่วมมือในสาขาต่างๆ ของบิมสเทค และให้ดำเนินงานทันที” เชิดชาย กล่าว

ส่วนเอกสารวิสัยทัศน์ฯ จะมีเนื้อหาเน้นการขจัดความยากจน ลดช่องว่างรายได้ เสริมสร้างความเข้มแข็งทางอาชีพ ส่งเสริมศักยภาพสินค้าเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้เป็นการชูบทบาทกลุ่มความร่วมมือบิมสเทคให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

เชื่อมขนส่งทางเรืออ่าวเบงกอล

ในปีที่ไทยเป็นประธานยังจัดให้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งมีความพิเศษตรงที่อนุญาตให้บรรทุกสินค้าได้สูงถึง 30,000 เมตริกตัน เชื่อมโยงท่าเรือ 13 แห่งในภูมิภาคบิมสเทคเข้าด้วยกัน เช่น ท่าเรือระนอง จิตตะกอง เจนไน โคลอมโบ โดยขณะนี้การร่างถ้อยคำที่ระบุในเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว และขั้นตอนต่อไปเป็นการให้ผู้นำบิมสเทคลงนามในปลายปีนี้ 

“กระทรวงการต่างประเทศมองเห็นโอกาสในข้อตกลงความร่วมมือขนส่งสินค้าทางทะเล จะส่งเสริมการส่งออกสินค้าสำคัญๆของไทยไปยังประเทศสมาชิกมากขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก ปาล์มและอัญมณี”เชิดชายกล่าว และชี้ว่า อินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก หรือมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรโลก ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศสมาชิิกบิมสเทครวมกันที่ 4.5% ก่อนหน้าการระบาดใหญ่จึงเชื่อมั่นว่า บิมสเทคจะเติบโตสูงสุดในเอเชีย

นทท.บิมสเทค ชอบเที่ยวไทย 

ในช่วง ม.ค. – มี.ค. มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยทั้งหมด 12,914,691 คน เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกบิมสเทค 8% มาจากอินเดีย 5.9% ซึ่งเป็นอันดับ 5 รองจากมาเลเซีย จีน รัสเซีย และเกาหลีใต้ 

ที่ผ่านมา  มีการจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่เพื่อปูทางไปสู่การประชุมผู้นำบิมสเทค โดยประเทศสมาชิกเห็นตรงกันว่า เทคโนโลยีเอไอจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจไหลเวียนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น การพัฒนาระบบการชำระเงินข้ามแดน  การจัดการข้อตกลงด้านการค้าอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมระหว่างกัน

เชิดชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า โจทย์ท้าทายไทย ทำอย่างไรให้บิมสเทคมีตัวตนและอยู่ในเรดาร์โลก แต่เชื่อว่า การผลักดันความสามารถของกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะสามารถฉายภาพเอกลักษณ์ความเป็นบิมสเทคให้ชัดเจนมากขึ้นได้