การประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง – วันที่ 3

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงการผลักดันให้บิมสเทคเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและบรรลุศักยภาพสูงสุดในฐานะกรอบความร่วมมือเดียวที่เชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่จบลงนี้ เป็นการปิดฉากการเป็นเจ้าภาพบิมสเทคของไทยโดยสมบูรณ์ โดยผู้นำรัฐสมาชิกทั้ง 7 ประเทศ ได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ โดยเฉพาะปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และ ‘วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030’ ที่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างบิมสเทคที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง (Prosperous, Resilient, Open หรือ PRO BIMSTEC) โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 3 ข้อตามที่ไทยตั้งเป้า ได้แก่

(1) บิมสเทคที่ “มั่งคั่ง” (Prosperous BIMSTEC) โดยเฉพาะการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นและขยายโอกาสใหม่โดยเฉพาะในเอเชียใต้

(2) บิมสเทคที่ “ยั่งยืน ฟื้นคืน” (Resilient BIMSTEC) ผ่านการสนับสนุนความร่วมมือด้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ โดยผู้นำรัฐสมาชิกได้ร่วมกันรับรอง “แถลงการณ์ร่วมของผู้นำบิมสเทคว่าด้วยผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาและไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568” ที่ไทยเป็นผู้เสนอ เพื่อยืนยันถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ

(3) บิมสเทคที่ “เปิดกว้าง” (Open BIMSTEC) ผ่านการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน ซึ่งไทยได้จัดกิจกรรม BIMSTEC Young Gen Forum ในวันที่ 3 เมษายน 2568 เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของบิมสเทคด้วย

ในการนี้ ไทยได้ส่งต่อการเป็นประธานบิมสเทคให้แก่บังกลาเทศ เพื่อสานต่อพันธกิจของบิมสเทคต่อไป โดยเฉพาะการขับเคลื่อนบิมสเทคให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030

ภายหลังการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 แก่สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศที่สนใจด้วย

กิจกรรม BIMSTEC Young Gen Forum: Where the Future Meets

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568  กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักข่าว TNN World จัดกิจกรรม BIMSTEC Young Gen Forum: Where the Future Meets ณ ศูนย์การค้า ICON SIAM ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

กิจกรรม BIMSTEC Young Gen Forum เป็นข้อริเริ่มของไทย ที่จัดเวทีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ของ BIMSTEC มาแลกเปลี่ยนแนวคิดและความเห็นในสาขาที่แต่ละประเทศเป็นแกนหลัก โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. Muhammad Yunus ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลบังกลาเทศ มากล่าวปาฐกถาพิเศษ ซึ่งมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับ

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวเปิดกิจกรรม โดยย้ำความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น BIMSTEC ในการรับมือกับความท้าทายร่วมกัน ซึ่งความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จะเป็นกุญแจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างภูมิภาคที่เข้มแข็ง

ศาสตราจารย์ ดร. Yunus ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษโดยเน้นถึงพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ การเริ่มจากสิ่งใหม่เล็กๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ การมีจินตนาการ มีเป้าหมายในชีวิต ที่นอกเหนือจากการหารายได้ให้ตนเอง เช่น การทำธุรกิจเพื่อสังคม นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. Yunus ยังได้แบ่งปันวิสัยทัศน์ในการสร้างสังคมที่มี 3 ศูนย์ (3 Zeros) ได้แก่ การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ความมั่งคั่งกระจุกตัวเป็นศูนย์ และการว่างงานเป็นศูนย์ผ่านการสร้างพลังของผู้ประกอบการในตัวของทุกคน

ในกิจกรรมครั้งนี้ นักธุรกิจรุ่นใหม่ในกลุ่มประเทศ BIMSTEC ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือใน 7 สาขาหลัก ได้แก่ การค้าการลงทุน สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคง การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ความสัมพันธ์ภาคประชาชน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และความเชื่อมโยง

การประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง – วันที่ 2

วันที่ 3 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันที่สองของการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่กรุงเทพฯ ในช่วงเช้า ไทยในฐานะประธานบิมสเทคได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับ
รัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ 20 (The 20ᵗʰ BIMSTEC Ministerial Meeting) โดยมีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม และนายชุตินทร คงศักดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย

ที่ประชุมได้พิจารณาเอกสารและข้อตัดสินใจสำคัญต่าง ๆ ของบิมสเทค เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 (The 6ᵗʰ BIMSTEC Summit) ในวันที่ 4 เมษายน 2568 ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีฯ ได้เห็นชอบเอกสารสำคัญ 19 ฉบับ ซึ่งรวมถึงแผนปฏิบัติการในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นการบริหารจัดการภัยพิบัติ สืบเนื่องจากผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เมียนมาและไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568

ก่อนการประชุม รัฐมนตรีบิมสเทคได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือว่าด้วยการขนส่งทางทะเล (Agreement on Maritime Transport Cooperation) ซึ่งจะเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางทะเลในภูมิภาค นอกจากนี้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างบิมสเทคกับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association: IORA) และบิมสเทคกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ซึ่งจะส่งเสริมความแน่นแฟ้นระหว่างองค์กร และเพิ่มบทบาทของบิมสเทคในเวทีระหว่างประเทศต่อไป

ในช่วงบ่าย กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักข่าว TNN World จัดกิจกรรม BIMSTEC Young Gen Forum: Where the Future Meets ณ ศูนย์การค้า ICON SIAM ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ที่เกิดจากข้อริเริ่มของไทย โดยเป็นเวทีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ของ BIMSTEC มาแลกเปลี่ยนแนวคิดและความเห็นในสาขาที่แต่ละประเทศเป็นแกนหลัก นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร. Muhammad Yunus ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ มากล่าวปาฐกถาพิเศษด้วย โดยได้เน้นถึงพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ การเริ่มต้นสิ่งใหม่จากสิ่งเล็กๆ สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ การมีจินตนาการ มีเป้าหมายในชีวิต และการทำธุรกิจเพื่อสังคม

ในช่วงค่ำ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำบิมสเทคที่เดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในวาระที่ไทยเป็นประธาน ในวันที่ 4 เมษายน 2568 โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับผู้นำบิมสเทคและผู้แทนระดับสูงที่เข้าร่วมการประชุม และภายในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ได้จัดให้มีการแสดงต่าง ๆ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ที่สะท้อนทั้งเอกลักษณ์ของไทย รวมถึงวิถีชีวิตและจุดมุ่งหมายของประเทศสมาชิก และกรอบความร่วมมือบิมสเทค ประกอบด้วย ชุด “Wealthy Bengal” ชุด “Rice Blessing Dance” และชุด “Kinnaree Classical Dance” ตามลำดับ

การประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง – วันที่ 1

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ไทยในฐานะประธานบิมสเทค เป็นเจ้าภาพการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสบิมสเทค ครั้งที่ 25 (The 25ᵗʰ BIMSTEC Senior Officials’ Meeting) ที่กรุงเทพฯ โดยมีนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส และนางสาวรุจิกร แสงจันทร์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เข้าร่วมในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายไทย

ที่ประชุมได้พิจารณาเอกสารและข้อตัดสินใจสำคัญต่าง ๆ ของบิมสเทค เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในวันที่ 4 เมษายน 2568 โดยรัฐสมาชิกได้รายงานความคืบหน้าของความร่วมมือบิมสเทคทั้ง 7 สาขา ได้แก่ (1) การค้า การลงทุน และการพัฒนา (2) สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) ความมั่นคง (4) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (5) การติดต่อระหว่างประชาชน (6) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ (7) ความเชื่อมโยง โดยไทยในฐานะประเทศนำสาขาความเชื่อมโยง ได้ย้ำความสำคัญของความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางทะเลระหว่างรัฐสมาชิกบิมสเทค และการเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงสามฝ่ายเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม อินเดีย-เมียนมา-ไทย ตลอดจนนำเสนอ “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 หรือ BIMSTEC Bangkok Vision 2030” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิด Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC (PRO ​​BIMSTEC) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่ไทยใช้ในการขับเคลื่อนวาระการเป็นประธานบิมสเทคด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือด้านการบริหารและการเงิน พิจารณาร่างเอกสารสำคัญ ๆ และรับทราบการดำเนินงานของศูนย์ต่าง ๆ ภายใต้บิมสเทค ในโอกาสนี้ ที่ประชุมยังได้แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับเมียนมาและไทยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาด้วย

ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือ BIMSTEC) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการที่ไทยเป็นร่วมก่อตั้งเมื่อปี 2540 ปัจจุบันมีสมาชิก 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการเติบโตและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือในภูมิภาค

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับนายอินทระ มณิ ปาณเฑย์ เลขาธิการบิมสเทค

เมื่อ 24 มกราคม 2568 นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนายอินทระ มณิ ปาณเฑย์ เลขาธิการความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ในโอกาสที่เดินทางเยือนไทย

ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับการเตรียมการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่าง 2 – 4 เมษายน 2568 ที่กรุงเทพฯ ตลอดจนผลลัพธ์สำคัญของการประชุมดังกล่าว ซึ่งรวมถึงวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต และปฏิญญาผู้นำบิมสเทคฯ ในโอกาสนี้ รองปลัดฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาความตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบบิมสเทคให้แล้วเสร็จ เพื่อยกระดับการค้าระหว่างรัฐสมาชิกภายในภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการผลักดันความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค ซึ่งไทยเป็นประเทศนำของสาขาความร่วมมือนี้ โดยบิมสเทคถือเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมทั่วทั้งภูมิภาค








ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสบิมสเทคครั้งที่ ๒๔

เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๗  ไทยในฐานะประธานบิมสเทคเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบ
ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือบิมสเทค (BIMSTEC)
ครั้งที่ ๒๔ ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีนายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
เป็นประธาน และนางสาวรุจิกร แสงจันทร์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เข้าร่วมในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทย

ในที่ประชุมไทยได้เสนอ ๑) การจัดตั้งศูนย์ความเลิศด้านเวชศาสตร์เขตร้อนภายใต้กรอบบิมสเทค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือความท้าทายด้านสุขภาพที่มีร่วมกันในภูมิภาค และ ๒) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการตรวจสอบภาครัฐภายใต้กรอบบิมสเทค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางสถาบันการเงิน และพัฒนาความโปร่งใสทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐระหว่างรัฐสมาชิก

ในการเข้าร่วมประชุมข้างต้น ยังได้มีการทบทวนร่างเอกสารแนวคิดกับภาคีภายนอก รวมถึงสถานะผู้สังเกตการณ์ของบิมสเทคและสหประชาชาติ และความร่วมมือระหว่างบิมสเทคกับอาเซียน

นอกจากนี้ ไทยยังได้แจ้งที่ประชุมเรื่องกำหนดการจัดประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีกำหนดช่วงต้นเดือน เมษายน ๒๕๖๘

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสบิมสเทคเป็นกลไกการดำเนินงานหลัก มีหน้าที่รับผิดชอบการเตรียมการสำหรับ
การประชุมรัฐมนตรีบิมสเทค ซึ่งรวมถึงการติดตามความคืบหน้ารายสาขา และการเห็นชอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อการพิจารณาของที่ประชุมระดับรัฐมนตรี

ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการถาวรบิมสเทค ครั้งที่ ๗

เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ นางสาวรุจิกร แสงจันทร์ รองอธิบดีฯ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการถาวรบิมสเทค ครั้งที่ ๗ (7th Meeting of BIMSTEC Permanent Working Committee) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ ๔ กันยายน ศกนี้

การประชุมฯ ครั้งนี้ได้หารือเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประชุมผู้นำและการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๔ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญาผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ (๒) เอกสารแนวคิดว่าด้วยการประชุมของรัฐมนตรีกลาโหมบิมสเทค (๓) เอกสารแนวคิดว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงินและการคลังบิมสเทค และ (๔) กฎระเบียบสำหรับศูนย์สภาพอากาศและภูมิอากาศของบิมสเทค ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากการประชุมจะช่วยยกระดับกลไกความร่วมมือของบิมสเทคผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก เพื่อให้ภูมิภาคอ่าวเบงกอลสามารถบรรลุผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมได้

อนึ่ง นับตั้งแต่การรับตำแหน่งประธานบิมสเทคของไทยในปี ๒๕๖๕ ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการฯ ทั้งหมด ๔ ครั้ง โดยที่ประชุมฯ ครั้งนี้ จะเสนอเอกสารผลลัพธ์ข้างต้นต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสบิมสเทค ครั้งที่ ๒๔ ที่ประชุมรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ ๒๐ และที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๒ ที่กรุงนิวเดลี

เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๒ ที่กรุงนิวเดลี อินเดีย โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ ภูฏาน และเมียนมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเนปาล และเลขาธิการบิมสเทค เข้าร่วม โดยที่ประชุมฯ ได้หารือแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล และการบริการจัดการภัยพิบัติ

รัฐมนตรีฯ ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นมั่นคงรูปแบบใหม่ในกรอบบิมสเทค ได้แก่ (๑) ความมั่นคงทางอาหาร โดยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนจากทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ของอ่าวเบงกอล โดยเฉพาะทรัพยากรประมง (๒) ความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการศึกษาอย่างรอบ และ (๓) ความมั่นคงทางพลังงาน โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน โดยรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำความตั้งใจของไทยที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านดังกล่าวเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกรอบบิมสเทค

รัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำบทบาทสำคัญของไทยในฐานะจุดเชื่อมระหว่างบิมสเทคและอาเซียน เชื่อมโยงตลาดภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรรวมกันกว่า ๔ พันล้านคน นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้แสดงความพร้อมของไทยในฐานะประธานบิมสเทคในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ ที่กรุงเทพ ในวันที่ ๔ กันยายนปีนี้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคเอกชนในฐานะผู้เล่นสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของบิมสเทค ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยไทยจะเสนอเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม BIMSTEC Young Entrepreneur Forum ในช่วงการประชุมผู้นำบิมสเทคฯ เพื่อเป็นเวทีสำหรับเยาวชนในการแลกเปลี่ยนแนวคิดทางธุรกิจแบบใหม่

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้ร่วมเข้าเยี่ยมคารวะนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย และยืนยันความพร้อมของไทยในการต้อนรับนายกรัฐมนตรีอินเดียเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำบิมสเทคที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ฝากความระลึกถึงนายกรัฐมนตรีของไทย

การประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ครั้งที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗

เมื่อวันที่ ๑๖ – ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากฝ่ายไทย เป็นประธานการประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ครั้งที่ ๕ ณ สำนักเลขาธิการบิมสเทค กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เพื่อจัดทำรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ซึ่งต่อยอดจากผลของการประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๗

การประชุมฯ ครั้งนี้ ได้หารือร่างรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ซึ่งจะเป็นเอกสารสำคัญที่ช่วยกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต พร้อมทั้งนำเสนอแผนการดำเนินงานอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อให้บิมสเทคสามารถก้าวข้ามความท้าทายในปัจจุบัน และสามารถบรรลุความร่วมมือเพื่อการรวมตัวในภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความมั่นคงภายในภูมิภาคอ่าวเบงกอลได้

คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ กำหนดจะมีการประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ เพื่อสรุปรายงาน และนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีของบิมสเทคพิจารณา ก่อนนำเสนอผู้นำฯ ในการประชุมผู้นำที่จะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๗